โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
ปรับขนาดตัวอักษร
ภาษา
สถานที่ท่องเที่ยว

วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร

11 พฤศจิกายน 2564
ยังไม่มีผู้ให้คะแนน

          วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นพระอารามหลวง ชั้นโทชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ทิศเหนือจดถนนหลวง ทิศใต้จดแม่น้ำแม่กลอง ด้านข้างทั้งสองด้านติดกับลำคลอง วัดนี้สร้างในสมัย ร.๑ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้รับวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๓๒๕

          วัดอัมพวันเจติยาราม มีความสำคัญยิ่ง ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นนิวาสสถานเดิมของหลวงยกบัตร (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ราชวงศ์จักรี) และคุณนาก (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินี ใน รัชกาลที่ ๑) ได้มาอาศัยอยู่หลังจากที่บ้านเดิมใกล้วัดจุฬามณีถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว เมื่ออพยพมาจากป่า บริเวณหลังวัดจุฬามณี จึงได้มาอาศัยอยู่ ณ ที่นี้ และได้คลอดบุตรคนที่ ๔ คือ คุณฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒) ณ สถานที่แห่งนี้ เชื่อกันว่า คือ บริเวณพระปรางค์ของวัดอัมพวันฯ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เพื่อบรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชบิดา           สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และบรรดาพระญาติได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ถวายสมเด็จพระมารดา (สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี) ซึ่งได้อุทิศบ้านเดิม และที่ดินทั้งหมดให้สร้างวัดและได้บวชเป็นพระรูปชีจำศีลอยู่ ณ วัดนี้จนตลอดชีวิต           วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ตลอดมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารน้อย (พระที่นั่งทรงธรรม) พระวิหาร และกุฏิใหญ่           รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถทั้งหลังและทรงสร้างโรงธรรมศาลาขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่ง           รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดอัมพวันฯ ได้ทรุดโทรมลงไปมากได้เสด็จมาทอดพระเนตร เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ คราวที่เสด็จประพาสมณฑลราชบุรี หลังจากนั้นได้ทรงแต่งตั้งพระครูวัดบ้านแหลมขึ้นเป็นพระราชาคณะที่พระมหาสิทธิการ (แดง) และโปรดให้ไปครองวัดอัมพวันฯ เพื่อไปบูรณปฏิสังขรณ์ให้ทรงสภาพดีขึ้น

          สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่                ๑. พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระปั้นของเก่า ปางมารวิชัย                ๒. พระพุทธรูป ปางพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารใหญ่                ๓. พระพุทธโสธรจำลอง ประดิษฐานอยู่ที่บริเวณลานจันทน์                ๔. วิหารและพระปรางค์ในพระวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย                ๕. พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย                ๖. พระอุโบสถ พระวิหาร พระที่นั่งทรงธรรม พระตำหนักใหญ่ พระตำหนักเล็ก ศาลาการเปรียญ ตลอดจนกุฏิสงฆ์           พระอุโบสถเดิม ของวัดอัมพวันเจติยาราม (เดิมเรียกว่าวัดอัมพวา) เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ถือว่าเป็นวัดต้นวงศ์ราชินีกูลทางฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เหมือนกับพระอุโบสถ           วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดต้นวงศ์พระบรมราชวงศ์จักรี ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระอุโบสถของวัดปัจจุบันนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริให้เขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถวัดอัมพวันฯ เรื่องเกี่ยวกับ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อให้สอดคล้องกับที่เป็นสถานที่พระบรมราชสมภพ โดยแบ่งการเขียนผนังพระอุโบสถเป็นห้องๆ เริ่มตั้งแต่ผนังด้านซ้ายหรือด้านทิศเหนือเวียนไปตามลำดับ ดังนี้           ห้องที่ ๑ พระบรมราชสมภพ ทรงศึกษาอักขรสมัย และโสกันต์ที่บ้านหลวง เมืองบางกอก           ห้องที่ ๒ พระราชพิธีสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม และทรงผนวชพิธีรับพระสุพรรณบัฏ ในพระบรมมหาราชวัง           ห้องที่ ๓ พระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อพุทธศักราช ๒๓๔๙           ห้องที่ ๔ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก           ห้องที่ ๕ พระราชพิธีรับ และสมโภชพระยาเศวตกุญชร สมโภชพระพุทธบุษยรัตน์ และพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้ามงกุฎ           ห้องที่ ๖ สร้างเมืองนครเขื่อนขัณฑ์ ทูตเฝ้า และรับครัวมอญ           ห้องที่ ๗ พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีทรงผนวช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ และพระราชพิธีวิสาขบูชา           ห้องที่ ๘ การสร้างวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม สร้างเมืองสมุทรปราการ และการสถาปนาพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม           ฯลฯ           การเดินทาง การเดินทางไปวัดอัมพวันเจติยาราม ใช้เส้นทางเดียวกันกับการเดินทางไปอุทยาน ร.๒ เพราะอยู่ติดกัน จากตลาดแม่กลองใช้เส้นทางแม่กลอง – อัมพวา บางนกแขวก ผ่าน วัดแก้วฟ้า วัดบางกะพ้อม วัดนางวัง ถึงแยกไฟเขียวแดง ตรงไปอำเภออัมพวา ข้ามสะพาน  คลองอัมพวา ลงจากสะพานถึงวัดอัมพวันเจติยาราม อยู่ทางซ้ายมือ

 

-----------------------------------------------------------------------------------

พระราชสมุทรรังสี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร

แสดงความคิดเห็น
สถานที่ท่องเที่ยว อื่นๆ